พื้นฐานการวินิจฉัยโรคผิวหนังในสุนัขและแมว

พื้นฐานการวินิจฉัยโรคผิวหนังในสุนัขและแมว
สพ.ญ.ลาวัลย์ หล้าสุพรม
ขั้นตอนในการวินิจฉัยโรคผิวหนังในสุนัขและแมวที่สำคัญ คือ การซักประวัติเจ้าของอย่างละเอียด ซึ่งหากขาดข้อมูลที่สำคัญบางประการไป อาจทำให้การวินิจฉัยเกิดขึ้นได้ล่าช้า หรืออาจเกิดความผิดพลาดในการวินิจฉัยและรักษาได้ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญในการวินิจฉัยโรคผิวหนัง คือ การตรวจร่างกายที่ละเอียด การระบุลักษณะของรอยโรคที่ชัดเจนและครบถ้วน จึงจะเกิดการวินิจฉัยที่ถูกต้องและแม่นยำ
ลักษณะของรอยโรคทางผิวหนัง (morphology of skin lesions)
ลักษณะรอยโรคทางผิวหนังจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ primary lesion และ secondary lesion โดยรอยโรคบางชนิดอาจเป็นได้ทั้ง primary lesion และ secondary lesion
Primary lesion
- Macule เป็นรอยโรคที่เกิดจากการเปลี่ยนสีของผิวหนัง โดยไม่มีการยกนูนขึ้น เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 ซม. ซึ่งอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสีที่เปลี่ยนไป เช่น hypopigmentation macule เป็น macule ที่เกิดจากผิวหนังบริเวณดังกล่าวมีสีจางลง
- Patch เป็นรอยโรคที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับ macule แต่มีขนาดใหญ่กว่า โดย patch จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1 ซม. โดยการวินิจฉัยแยกโรคของ macule และ patch จะขึ้นอยู่กับสีของผิวหนังที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
– Depigmentation หรือ hypopigmentation อาจเกิดจาก vetiligo, discoid lupus erythematosus, uveodermatologic syndrome, mucocutaneous pyoderma เป็นต้น
– Hyperpigmentation อาจเกิดจาก lentigo, pigmentary nervi, postinflammation
– Erythema เป็นรอยโรคที่เกิดจากการอักเสบ
– Hemorrhage อาจเกิดจาก trauma, vasculitis, vasculopathy, coagulopathy เป็นต้น
- Pustule เป็นรอยโรคผิวหนังที่มีการยกตัวสูงขึ้นของชั้น epidermis ซึ่งจะมีการสะสมตัวของหนองอยู่ภายในรอยโรค โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 ซม. โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อ หากต้องการเก็บตัวอย่างเซลล์เพื่อทำ cytology ควรทำการเจาะ pustule ให้แตกออก แล้วนำสไลด์ไปแปะที่รอยโรคเบาๆ ก่อนนำไปย้อมสี และส่องตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์ โดย pustule จะสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด
– Eosinophilic pustule เป็น pustule ที่ประกอบด้วย eosinophil อยู่ภายในมักเกิดจากปรสิต หรือภาวะภูมิแพ้ต่างๆ (allergy) หาก pustule ดังกล่าวเป็น pustule ที่ sterile ก็อาจเกิดจาก subcorneal pustular dermatosis, pemphigus foliaceus หรือ eosinophilic pustulosis
– Larger flaccid pustule เป็น pustule ที่อ่อนนุ่มและมีขนาดค่อนข้างใหญ่ โดยสามารถเกิดได้จากสัตว์ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือป่วยด้วยภาวะ Cushing’s disease โดยมักพบรอยโรคส่วนใหญ่อยู่บริเวณท้อง
– Larger green pustule เป็น pustule ที่มีสีเขียว มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ เช่น Proteus spp. หรือ Pseudomonas spp.
โดยปกติแล้ว pustule จะมีผนังที่ค่อนข้างบาง และแตกออกง่าย ทำให้โดยส่วนใหญ่สัตวแพทย์จะไม่ค่อยพบรอยโรคชนิดนี้ แต่จะพบเป็นคราบหนองที่เคลือบอยู่บนผิวของรอยโรคที่เรียกว่า crust แทน
- Papule เป็นรอยโรคที่เกิดจากการแทรกตัวของเซลล์อักเสบหรือการแบ่งตัวของเซลล์ ทำให้เกิดการยกตัวของผิวหนังเป็นรูปโดม เมื่อจับหรือกดจะพบว่ามีลักษณะที่ค่อนข้างแข็ง มักมีสีแดงหรือชมพู โดยมีขนาดไม่เกิน 1 ซม.
- Plaque เป็นรอยโรคที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับ papule แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า 1 ซม. โดย plaque อาจเกิดจาก papule ที่ขยายขนาดขึ้นหรือเกิดจากการรวมตัวกันของ papule หลายๆ อันก็ได้ เกิดจาก allergic reaction ต่างๆ หรือพบในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน หรืออาจเกิดจากการแพ้ยา (drug eruption) ก็ได้
มักจะพบ Papule จากการติดเชื้อของแบคทีเรียภายในรูขุมขน (superficial bacterial folliculitis) แต่ก็มีบางสาเหตุที่ทำให้ papule ไม่ได้เกิดขึ้นที่รูขุมขน (non-follicular papule) ซึ่งอาจเกิดจาก scabies หรือ flea bite hypersensitivity (จะเกิดรอยโรค papule ที่ตำแหน่งที่หมัดกัด ซึ่งไม่สัมพันธ์กับรูขุมขน)
- Vesicle เป็นตุ่มขนาดเล็กกว่า 1 ซม. ที่ภายในประกอบไปด้วยของเหลวใส โดย vesicle อาจอยู่ในชั้น epidermis หรือ subepidermis ก็ได้
- Bulla เป็นรอยโรคที่คล้ายคลึงกับ vesicle เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่า 1 ซม. โดย vesicle และ bulla มักจะแตกออกได้ง่าย ทำให้สัตวแพทย์มักไม่ค่อยพบรอยโรคชนิดนี้
Vesicle และ bulla อาจเกิดได้จากการติดเชื้อไวรัส เช่น canine distemper virus หรืออาจเกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงสารระคายเคืองต่างๆ
- Wheal เป็นรอยโรคที่มีการยกตัวสูงขึ้นของผิวหนัง มีลักษณะบวมแดงของชั้นผิวหนัง (ต่างจาก papule และ plaque ที่เกิดจากการรวมตัวของเซลล์อักเสบหรือเซลล์ของผิวหนัง) โดย wheal จะเกิดขึ้น และหายไปอย่างรวดเร็วในระดับนาทีถึงชั่วโมงหรือเพียงไม่กี่วัน ซึ่งมักสัมพันธ์กับภาวะภูมิแพ้แบบฉับพลัน หรือเป็นรอยโรคที่เกิดขึ้นจากการทดสอบ intradermal skin tests
- Nodule เป็นรอยโรคที่มีลักษณะเป็นก้อนแน่น มีขนาดใหญ่กว่า 1 ซม. และมักจะอยู่ลึกลงไปถึงชั้น dermis หรือ subcutis โดย nodule สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นเกิดจากการแทรกตัวของเซลล์ต่างๆ มายังเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าว เนื่องจากการอักเสบติดเชื้อในชั้นลึกหรือเนื้องอก อาจเป็นลักษณะก้อน granuloma ก็ได้ การวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุควรทำ cytology หรือ biopsy
- Cyst มีลักษณะเป็นถุงภายในเป็นของเหลว หรือsemisolid มักมีต้นกำเนิดมาจาก hair follicle ส่วนใหญ่ cyst ที่เกิดขึ้นมักไม่ได้ก่อปัญหาทางระบบผิวหนังมากนัก
Primary and secondary lesion
- Alopecia หรือภาวะขนร่วง เป็นภาวะที่เกิดการสูญเสียเส้นขนบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ อาจเกิดจาก hair follicle ถูกทำลายหรือไม่สามารถผลิตเส้นขนได้ตามปกติ โดยสามารถวินิจฉัยแยกภาวะขนร่วงได้ดังนี้
- Primary alopecia เป็นภาวะขนร่วงที่เกิดจากปัจจัยจากภายในตัวสัตว์ป่วยเอง เช่น endocrine disease (hypothyroidism, hyperadrenocorticism), follicular dysplasia, telogen effluvium, anagen defluxion
- Secondary alopecia เป็นภาวะขนร่วงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น สัตว์ป่วยมีอาการคัน ทำให้เกิดการกัดแทะเส้นขน โดยสาเหตุสามารถเกิดได้จากทุกโรคที่สามารถก่อให้เกิดการคัน เช่น bacterial folliculitis เป็นต้น
นอกจากนี้คำว่า alopecia แล้ว ยังมีคำศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะขนร่วง เช่น hypotrichosis หรือภาวะขนบาง เป็นภาวะที่สัตว์ป่วยมีเส้นขนน้อยกว่าปกติ defluxion หรือ effluvium เป็นภาวะขนร่วงแบบฉับพลัน (acute alopecia) easy epilation เป็นภาวะขนหลุดร่วงง่าย สัตวแพทย์สามารถพบได้ในขณะที่ตรวจเส้นขน โดย easy epilation อาจเป็นภาวะปกติในช่วงที่สัตว์มีการผลัดขน หรืออาจเกิดจากโรคผิวหนังก็ได้
- Scale หรือสะเก็ด ผิวหนังปกติจะมีการผลัดเซลล์ของผิวชั้นนอกคือ cornified cell (horny layer) แต่ถ้ามีการผลัดเซลล์ผิวที่มากเกินไปหรือเซลล์ชั้นนอกสุดไม่ลอกหลุดออก ก็จะพบลักษณะ scale มีสาเหตุได้ทั้ง primary seborrhea เช่น ichtyhyosis, follicular dysplasia หรือ secondary seborrhea ที่เกิดตามมาจากผิวหนังอักเสบ
- Crust เป็นรอยโรคที่เกิดจากมี exudate, serum, pus, blood เกาะอยู่ชั้นผิวหนัง stratum corneum เกิดจากภาวะโรคต่างๆ เช่น primary seborrhea, superficial necrolytic dermatitis (hepatocutaneous syndrome) หรือ zinc responsive dermatosis ที่มักพบในสุนัขสายพันธุ์ Siberian Husky นอกจากนี้ crust ยังสามารถเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย pyoderma หรืออาการคันที่ทำให้สุนัขเกาจนมีเลือดออก
- Follicular cast เป็นภาวะที่มีการสะสมของ keratin หรือ follicular material อยู่บนเส้นขน สามารถเกิดได้จากภาวะโรคต่างๆ เช่น vitamin A-responsive dermatosis, primary seborrhea, sebaceous adenitis หรืออาจเกิดจากภาวะโรคอื่นๆ (เป็น secondary lesion) เช่น demodecosis หรือ dermatophytosis ก็ได้
- Comedo เป็นรอยโรคที่เกิดจากการขยายตัวออกของ hair follicle ร่วมกับมีการสะสมของ cornified cell และ sebaceous material อยู่ภายใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น feline acne, vitamin A-responsive dermatosis, endocrine disease เป็นต้น หรืออาจเกิดตามมาจากการติดเชื้อรากลุ่ม dermatophyte หรือ demodecosis ก็ได้
Secondary lesion
- Epidermal collarette เป็นภาวะที่มีเศษของ epithelial เรียงตัวกันเป็นวงกลมที่ขอบรอยโรค เกิดจากการแตกออกของ primary lesion เช่น pustule หรือ vesicle ทำให้ส่วนเพดานของ lesion ลอกหลุดออกไป เหลือเพียงเศษ epithelial ที่เป็นฐานอยู่รอบๆ โดย epidermal collarette เกิดจาก bacterial pyoderma หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันก็ได้
- Scar หรือแผลเป็น เป็นร่องรอยของการโดนทำลายของ dermis หรือเนื้อเยื่อในชั้นที่ลึกกว่า แล้วมีการซ่อมแซมโดยการสร้าง fibrous tissue มักมีลักษณะ depigmentation เนื่องจากไม่มีเซลล์ที่สร้างเม็ดสีอยู่ในบริเวณดังกล่าว สาเหตุเกิดจาก trauma หรือ severe skin lesion ที่ลึกถึงชั้น dermis เช่น severe burns หรือ deep pyoderma
- Excoriation เป็นรอยโรคที่เป็นรอยถลอก หรือแผลหลุมที่เกิดขึ้นจากความคัน ทำให้เกิดการกัดแทะ เกา ถู ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากทุกโรคที่ก่อให้เกิดความคัน โดย excoriation จะสามารถทำให้เกิด secondary bacterial infection ตามมาได้ เนื่องจากชั้น epithelium ไม่สมบูรณ์ จึงง่ายต่อการติดเชื้อแทรกซ้อน
- Erosion หรือรอยถลอก เป็นรอยโรคที่เกิดขึ้นจากความเสียหายของ epithelium ชั้นบน แต่ยังไม่ลึกถึงชั้น dermis (ยังไม่ทะลุ basal layer)
- Ulcer หรือแผลหลุม เป็นรอยโรคที่เกิดจากความเสียหายของ epithelium ลึกลงไปจนถึงชั้น dermis เมื่อมีการซ่อมแซมแล้ว มักเกิดเป็น scar โดย ulcer สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น feline indolent ulcer, severe deep pyoderma, vasculitis, necrolytic disease เป็นต้น
- Fissure เป็นร่องหรือรอยแยกของผิวหนังที่เกิดขึ้นในชั้น epidermis อาจลึกลงไปถึงชั้น dermis มักเกิดขึ้นในบริเวณที่มีการเคลื่อนไหว เช่น ear margin หรือ mucocutaneous borders โดยเกิดขึ้นเมื่อผิวหนังมีการหนาตัวและไม่มีความยืดหยุ่น แล้วมีการอักเสบหรือบวมของเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดการแยกตัวของเนื้อเยื่อ ซึ่งสามารถพบได้ในหลายโรค เช่น canine distemper virus infection, chronic skin diseases, zinc responsive dermatosis เป็นต้น
- Lichenification เป็นรอยโรคที่เกิดจากการหนาและแข็งตัวของผิวหนัง โดยมักจะพบว่ามีภาวะ hyperpigmentation ร่วมด้วย ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากการอักเสบเรื้อรัง
- Callus เป็นรอยโรคที่มีความคล้ายคลึงกับ lichenification แต่ callus จะมีการยกตัวสูงขึ้นของผิวหนังร่วมด้วย โดยมักพบในบริเวณที่มีการกดทับ ปุ่มกระดูกต่างๆ เช่น ข้อศอก ข้อเท้า เป็นต้น
การวินิจฉัยภาวะคันในสุนัขและแมว
หลักสำคัญในการวินิจฉัยภาวะคันในสุนัขและแมวคือการซักประวัติ โดยสัตวแพทย์จำเป็นจะต้องซักประวัติให้ชัดเจนและครบถ้วน การซักประวัติที่ดีจะช่วยทำให้สัตวแพทย์คาดเดาแนวโน้มของสาเหตุการเกิดโรคได้ ทำให้สามารถทำการวินิจฉัยแยกโรคได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตำแหน่งของการเกาคันจะสามารถช่วยบอกแนวโน้มของสาเหตุการเกิดโรคได้ เช่น ในกรณีที่สัตว์ป่วยมีอาการคันที่ลำตัว โดยไม่พบอาการคันที่ขา หรือหน้า มักมีแนวโน้มจะเกิดจาก etoparasite หากสัตว์ป่วยมีอาการคันที่ dorsal lumbar ก็อาจเกิดจาก flea allergic dermatitis หรือหากสัตว์ป่วยมีอาการคันที่ขอบใบหู ข้อศอก ข้อ อาจมีแนวโน้มจาก Sarcoptic mange ในกรณีที่สัตว์ป่วยด้วยโรค Demodecosis มักพบว่าตำแหน่งของอาการคันกระจายตัว เป็น multifocal lesions หรืออาจพบ pododermatitis หรือ periocular dermatitis ร่วมด้วย หากสัตว์ป่วยมีอาการคันบริเวณ flexor area, periocular area หรือ บริเวณ muzzle อาจเกิดจากภาวะ atopic dermatitis หรือ food allergy ทั้งนี้ตำแหน่งที่มีอาการคันอาจช่วยในการวินิจฉัยเบื้องต้นเท่านั้น สัตวแพทย์ยังจำเป็นต้องทำการวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันโรคร่วมด้วย
นอกจากตำแหน่งที่สัตว์ป่วยมีอาการคันแล้ว อายุยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคได้ โดยในสัตว์ป่วยอายุน้อยกว่า 3 เดือน อาการคันมักเกิดจากปรสิตต่างๆ โรคทางภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อราหรือแบคทีเรีย หรืออาจเกิดจากการแพ้อาหารก็ได้ ในสัตว์ป่วยที่อายุ 1- 3 ปี อาการคันมักมีแนวโน้มเกิดจากปรสิตภายนอก โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ในสัตว์ป่วยที่มีอายุมากกว่า 4 ปี อาการคันอาจเกิดจากปรสิตภายนอก, endocrine diseases, โรคในระบบsystemic หรือเนื้องอก
ประวัติการรักษาและการตอบสนองต่อยาที่สัตว์ป่วยเคยได้รับมาก่อน จะช่วยในการวินิจฉัยอาการคันได้ เช่น หากสัตว์ป่วยได้รับยาในกลุ่ม steroid แล้วอาการคันลดลง รอยโรคลดลง สาเหตุของอาการคันมีแนวโน้มที่จะเกิดจากการอักเสบ เช่น ภาวะภูมิแพ้สิ่งแวดล้อม การแพ้อาหาร แต่หากสัตว์ป่วยได้รับยาในกลุ่ม steroid แล้วอาการดูแย่ลง มีรอยโรคเพิ่มมากขึ้น แนวโน้มอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเกิดจาก demodecosis เป็นต้น นอกจากนี้โรคบางโรคสามารถติดต่อสู่คนได้ เช่น dermatophytosis, sarcotic mange โรคเหล่านี้เจ้าของอาจมีรอยโรคร่วมด้วย
การวินิจฉัยอาการคันอย่างมีระบบ (รูปที่ 1) ควรเริ่มต้นจากการตรวจหา ectoparasites ก่อน เช่น การทำ deep skin scraping การรักษาแล้วดูการตอบสนองต่อยา เช่น การทำ flea control trial เป็นต้น หากมีภาวะอักเสบ หรือรอยโรคที่บ่งชี้ว่ามีการอักเสบ เช่น pustule แนวโน้มของโรคมักเกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือ yeast สัตวแพทย์ควรทำการวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการเก็บตัวอย่างเพื่อทำ cytology แล้วทำการรักษาตามสาเหตุของโรค หลังจากนั้นควรทำการวินิจฉัยเพื่อหา underlying causes เนื่องจากโรคเหล่านี้มักเป็น secondary infection ที่เกิดตามมาทีหลังจากโรคอื่นๆ หากสัตว์ป่วยยังมีอาการคันหลังจากการรักษาภาวะติดเชื้อต่างๆแล้ว (แบคทีเรีย เชื้อรา หรือ yeast) แสดงว่า ยังมีสาเหตุหลักอื่นๆของโรคผิวหนัง การติดเชื้อดังกล่าวเป็นเพียง secondary infection เท่านั้น ซึ่งสาเหตุดังกล่าวอาจเกิดจากภาวะภูมิแพ้ สัตวแพทย์ควรทำการวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการทำ elimination diet trial เพื่อทดสอบภาวะภูมิแพ้อาหาร หากสัตว์ป่วยมีอาการคันลดลงหลังจากทำ elimination diet trial ไป 6-8 สัปดาห์ สัตวแพทย์ควรยืนยันภาวะภูมิแพ้อาหารโดยการทำ food rechallenge จากอาหารเดิมที่สัตว์เลี้ยงเคยได้กิน หากพบว่าสัตว์ป่วยกลับมามีอาการคันอีกครั้ง แสดงว่าสาเหตุของอาการคันเกิดจากอาหารที่ทำ food rechallenge แต่หากสัตว์ป่วยไม่ตอบสนองต่อการทำ elimination diet trial หรือ ไม่กลับมามีอาการอีกครั้งหลังทำ food rechallenge สัตวแพทย์ควรซักประวัติเพิ่มเติมเพื่อตัดปัญหาโรคทางระบบประสาทและพฤติกรรมออกไป หากไม่มีประวัติหรือแนวโน้มที่จะเกิดภาวะดังกล่าว จะสามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นภูมิแพ้ชนิด atopic dermatitis หากเจ้าของต้องการทราบสาเหตุของภูมิแพ้สิ่งแวดล้อมหรือจะรักษาด้วยการทำ immunotherapy สัตวแพทย์จะพิจารณาทำ intradermal skin test หรือ serum IgE testing ต่อไป
รูปที่ 1 แผนผังแสดงขั้นตอนในการวินิจฉัยอาการคันเบื้องต้น
การทดสอบเพื่อวินิจฉัยโรคระบบผิวหนังเบื้องต้น
- การวินิจฉัยโรคในกลุ่ม ectoparasites
- Hair coat collection สามารถทำได้โดยการใช้หวีซี่ถี่หวีขนเพื่อดูว่ามี ectoparasites หรือ flea dirt หรือไม่
- Scotch tape preparation เป็นการใช้ scotch tape เก็บตัวอย่างจากผิวหนังเพื่อดูไข่หรือตัวของ ectoparasites
- Trichogram เป็นการดึงขนบริเวณรอยโรคออกมาส่องกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งสามารถมองเห็นไข่เหาและไข่ตัวไรได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ดูรูปร่างของเส้นขน ความผิดปกติต่างๆ เช่น melanin clumping, dermatophyte infected hair เป็นต้น รวมทั้งระยะของเส้นขนได้ว่าอยู่ในระยะ anagen หรือ telogen เป็นส่วนใหญ่
- Skin scraping
- Deep skin scraping เป็นเทคนิคที่ใช้ใบมีดขูดไปบนผิวหนัง โดยจะต้องขูดลึกมากพอ (ขูดจนมีเลือดซึม) โดยจะต้องทำการขูดอย่างน้อย 3-5 ตำแหน่งที่มีรอยโรค เพื่อดูว่ามี Demodex หรือไม่
- Superficial skin scraping เป็นการใช้ใบมีดขูดผิวหนังบริเวณกว้างแต่ไม่ลึก โดยไม่จำเป็นต้องขูดจนมีเลือดซึมออกมา เทคนิคนี้มักใช้ในการวินิจฉัย scabies แต่ในบางครั้งอาจไม่พบ scabies ก็ได้ (หากสัตว์ป่วยมีอาการที่คล้ายกับ scabies ร่วมกับมี pinna-pedal reflex สัตวแพทย์สามารถทำการรักษาและดูการตอบสนองหลังการรักษา
วินิจฉัยภาวการณ์ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา yeast และดูเซลล์ชนิดต่างๆบนผิวหนัง
- Cytology เป็นการเก็บตัวอย่างจากผิวหนังมาย้อมสี เพื่อดู micro-organism, yeast หรือเซลล์ต่างๆ ซึ่งสีย้อมที่นิยมใช้ก็คือ Modified Wright’s stain หรือ Diff-quick โดยวิธีการเก็บตัวอย่างสามารถทำได้หลายวิธี เช่น impression smear, tape impression smear, swab smear, scraping หรือ fine needle aspiration
- Bacterial culture and sensitivity เป็นการวินิจฉัยเพื่อเลือกยาปฏิชีวนะให้เหมาะสม โดยจะทำเมื่อมีการใช้ยาปฏิชีวนะไปแล้ว 2 สัปดาห์ รอยโรคผิวหนังดีขึ้นไม่เกิน 50% หรือมีรอยโรคใหม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ควรเพาะเชื้อในรายที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะมากกว่า 6 เดือนแล้วยังพบแบคทีเรียที่ผิวหนัง หรือพบ intracellular rod bacteria ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีโอกาสดื้อยาค่อนข้างสูง รวมทั้งในรายที่มีประวัติหรือความเสี่ยงต่อเชื้อดื้อยา methicillin resistant หรือ เพาะเชื้อเพื่อเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมในรายที่เป็น deep pyoderma เนื่องจากจะต้องให้ยาปฏิชีวนะชนิดนั้นเป็นเวลานาน
- Wood’s lamp เป็นการใช้แสงในช่วง UV light ส่องไปยังบริเวณรอยโรค ช่วยในการวินิจฉัย Dermatophytosis ได้ โดยจะให้ผลเป็นบวกได้ 50-60% ของ Microsporum canis เท่านั้น (เชื้อราในกลุ่ม Dermatophyte อื่นๆ จะให้ผลเป็นลบคือไม่เรื่องแสงสีเขียว)
- Dermatophy test medium เป็นอาหารเลี้ยงเชื้อ ส่วนใหญ่จะใส่ indicator เพื่อดูการเติบโตของเชื้อรา หากพบว่าอาหารเปลี่ยนสีจากสีเหลืองเป็นสีแดง ร่วมกับมี colony สีขาวขึ้นร่วมด้วย ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเชื้อราในกลุ่ม Dermatophyte สัตวแพทย์ควรทำการเก็บตัวอย่างจาก colony ในวันที่ 14-21 มาทำการส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อระบุ species ต่อไป
- Microsporum canis จะพบว่ามี macroconidia เป็น spindle shape และมี septum กั้นมากกว่า 6 อัน ผนัง macroconidia หนา และมี terminal knob
- Microsporum gypseum จะพบ macroconidia มีรูปร่างเป็น spindle shape แต่มี septum น้อยกว่าหรือเท่ากับ 6 อัน ผนัง macroconidia จะบาง ไม่มี terminal knob
- Trichophyton mentagrophytes จะพบ macroconidia เป็น cigar-shaped และมักพบ microconidia เป็นวงกลมเล็กรวมกลุ่มอยู่ร่วม
อาการคันสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การวินิจฉัยที่ดีสามารถเกิดขึ้นได้จากการซักประวัติที่ครบถ้วน การตรวจร่างกายอย่างละเอียด การทดสอบทางห้องปฏิบัติการอย่างเหมาะสม ร่วมกับกระบวนการวินิจฉัยโรคอย่างเป็นระบบ ก็จะสามารถหาสาเหตุของอาการคันได้ไม่ยาก
References
Diagnostic methods. In: Miller WH, Griffin CE, Campbell KL, eds. Muller & Kirk’s Small Animal Dermatology. 7th edition. St. Louis, MO: Elsevier; 2013: p.69-79.
Physical examination. In: Hill PB. Small animal dermatology: a practical guide to the diagnosis and management of skin diseases in dogs and cats. Butterworth-Heinemann; 2002: p.16-23.
Understanding the language of the skin. In: Proceeding of the MAVC North American Veterinary Conference. Orlando, Florida; 2005.